ปฐมบทของหลวงปู่สุภา กันตสีโล
ครอบครัวของท่านขุนภักดี หรือผู้ใหญ่บ้านพล วงศ์ภาคำ และนางสอ วงศ์ภาคำ เป็นที่เคารพของชาวบ้านคำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ทั้งนี้เพราะท่านผู้ใหญ่พลสร้างแต่ความดี มีน้ำใจและบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรในปกครองอย่างเสมอหน้า ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเมตตา เมื่อพบผู้กระทำผิดอันพอจะอภัยได้ และกระทำการจับกุมอย่างเด็ดขาดในกรณีที่กฎหมายไม่อาจจะละเว้นหรือตักเตือนได้ ทุกคนจึงพร้อมที่จะร่วมมือกันท่านผู้ใหญ่พลในทุก ๆ ด้าน บ้านคำบ่อจึงอยู่กันอย่างสงบสุขตลอดมา วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๓๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก คุณแม่สอก็ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ ๘ ในสกุลวงศ์ภาคำ เป็นเด็กที่มีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ หน่วยก้านบอกว่า ต่อไปจะเป็นคนดีของบ้านเมือง และคนดีศรีวงศ์ตระกูล ท่านผู้ใหญ่พล จึงให้นามบุตรชายคนนี้ว่า “ สุภา ” อันประกอบด้วย “ สุ ” แปลว่า “ ดี ” และ “ ภา ” มาจากส่วนหนึ่งของสกุลว่า “ วงศ์ภาคำ ” ซึ่งมีความหมายว่า คนดีของตระกูลวงศ์ภาคำ นั่นเอง
หลวงปู่สุภา มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ
1. นางสี วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
2. นายเสน วงศ์ภาคำ (บวชเป็นพระภิกษุ – มรณภาพ)
3. นางผม วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
4. นางเกตุ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
5. นายจันทร์เพ็ง วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
6. หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล (มรณภาพ 2 กันยายน 2556)
7. นางมาลีจันทร์ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
8. นางกา วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
หลวงปู่สุภา รำลึกความหลังให้กับสานุศิษย์ได้รับรู้ว่า เมื่อท่านยังเป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วนท้วน เจ้าเนื้อ ผิวขาว ซุกซนตามประสาเด็กทั่วไป แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่ในครอบครัว และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เมื่อวัยของท่านเจริญเติบโตเพียงพอจะเล่าเรียนได้แล้ว ผู้เป็นบิดาของท่านได้พาไปฝากไว้ในวัด ให้ได้เล่าเรียนเขียนอ่านตามสมควรแก่วัย และเวลาหลวงปู่เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย มักชอบเล่าเรียนมากว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน
หลวงปู่สุภา ยังจำได้แม่นยำเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ถึงสิ่งที่ท่านได้ประสบกับสิ่งที่เรียกว่า “ การพยากรณ์ ” จากปากของพระธุดงค์ที่มาปักกลดใต้ต้นตะแบกใหญ่ท้ายหมู่บ้านคำบ่อ เด็กน้อยชื่อสุภา วัยเพียง ๗ ขวบ คลานเข้าไปกราบแทบตักพระธุดงค์ มือของพระธุดงค์ลูบศีรษะของเด็กน้อยด้วยความเอ็นดู บอกให้ลุกขึ้นนั่งทอดสายตา มองดูรูปร่างของเด็กน้อยที่นั่งอยู่ตรงหน้าเป็นครู่ใหญ่ จึงกล่าวกับเด็กน้อยหรือ หลวงปู่สุภา เมื่อตอนอายุได้ ๗ ขวบ ว่า
“เด็กน้อยเอ๊ย ต่อไปเจ้าจักได้บวชเรียน ถวายตัวในพุทธศาสนา บวชเมื่อใดแล้วจงอย่างลืมไปเสาะหาหลวงพ่อให้จงได้ อย่าลืมนะ พบกันในวาระที่เจ้าได้ครองผ้าเหลืองเหมือนหลวงพ่อนี้แหละ”
หลวงปู่สุภา เมื่อยังเป็นเด็ก ไม่เข้าใจว่านั่นคือคำพยากรณ์ จึงไม่ใส่ใจ แต่ได้จ้องดูหน้าของพระธุดงค์จนจดจำองคาพยพไว้ได้ทั้งหมด ก่อนจะกราบลาออกไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กซุกซนตามปกติ
วันเวลาเคลื่อนคล้อยไปอีกสองปีเต็ม หลวงปู่สุภา มีอายุได้ ๙ ขวบ จึงขอผู้เป็นบิดาออกบรรพชาเป็นสามเณร ท่านผู้ใหญ่พลไม่ขัดข้อง เพราะเห็นแล้วว่า หลวงปู่สุภา เป็นผู้เอาใจใส่ในการเล่าเรียน แม้จะไม่ได้เรียนทางโลก หากแต่เรียนทางธรรม ย่อมมีความเจริญดุจเดียวกัน จึงนำไปให้พระอาจารย์สวนทำการบรรพชาเป็นสามเณรและสั่งสอนอบรมอยู่หนึ่งปีเต็มวันหนึ่ง พระอาจารย์สวนได้บอกกับ หลวงปู่สุภา
“ อย่างเณรมันต้องก้าวหน้ากว่านี้ ฉันจะพาเข้าเมืองอุบลฯ ไปเล่าเรียนต่อให้แตกฉาน อยู่กับฉันมันก็แค่นี้แหละเณร ”
พบพระผู้ให้การพยากรณ์
พุทธศักราช ๒๔๔๙ หลวงปู่สุภา ได้รับการนำตัวลงมาจากบ้านคำบ่อ มาฝากไว้ในสำนักเรียนของพระมหาหล้า แห่งวัดไพรใหญ่ จ. อุบลราชธานี โดยพระมหาหล้าได้ทดสอบความรู้เบื้องต้น พบว่า หลวงปู่สุภา เมื่อเป็นสมาเณรมีความรู้เบื้องต้นดีมาก เรียนต่อก็ไม่ลำบากยากแก่การอบรม จึงร่วมกับอาจารย์ลุยผู้เป็นฆราวาสเปรียญธรรม อบรมสั่งสอนให้เล่าเรียน “ มูลกัจจายน์ ” ห้าเล่มอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย หลวงปู่เล่าเรียนด้วยความมานะพยายาม จนจบมูลกัจจายน์ในขณะอายุได้ ๑๖ ปีพอดี หลวงปู่สุภา ได้กราบเรียนถามพระมหาหล้าผู้เป็นอาจารย์สอนมูลกัจจายน์ว่า หากจะเล่าเรียนต่อไป จะไปทางไหนดี คำตอบของพระมหาหล้าคือ
“ มีอยู่สองทางคือ ไปเรียนบาลี เป็นมหาเปรียญ หรือไปเรียนวิปัสสนากรรมฐาน เป็นพระวิปัสสนาจารย์ เธอใคร่ครวญให้รอบคอบ แล้วจึงตัดสินใจ ”
ระหว่างสองทางเลือกนี้ สามเณรสุภาตัดสินใจระหว่าง ลาภ ยศ สรรเสริญ ทางเป็นมหาเปรียญ กับการเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้คร่ำเคร่งกับการปฏิบัติทางจิตและการแสวงหาความวิเวก ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอันรกเรื้อ ห่างไกลจากความเจริญ ไม่มีพัดเปรียญธรรม ไม่อาจจะสละทางสงฆ์ เทียบวุฒิเข้าทำงานแบบฆราวาสได้เหมือนมหาเปรียญ มโนนึกต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ที่สุด ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ก็ได้รับชัยชนะ
ในระหว่างที่ หลวงปู่สุภา จะก้าวออกนอกวัดไพรใหญ่ เพื่อเข้าสู่เส้นทางของวิปัสสนาจารย์ ก็ให้บังเอิญมีญาติโยมจากท่าอุเทนมาที่วัดไพรใหญ่ ได้มาทำบุญเบี้ยพระที่วัด และได้รู้จักกับสามเณรสุภา ได้เล่าความให้สามเณรฟังถึงพระภิกษุผู้เป็นพระสายวิปัสสนาที่ขณะนี้กำลังสร้างพระธาตุอุเทนว่า เป็นพระผู้มีเมตตาธรรมและมีบารมีธรรมอันน่าเคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์ นั่นคือสิ่งที่กระตุ้นให้สมเณรสุภา กราบลาพระมหาหล้า ออกเดินทางสู่ท่าอุเทนในทันที เพื่อไปนมัสการพระวิปัสสนาจารย์ ที่ได้รับการบอกเล่าจากญาติโยมชาวท่าอุเทน เมื่อไปถึงท่าอุเทนแล้ว ได้สอบถามเส้นทางไปพระธาตุท่าอุเทน
ขณะเมื่อไปถึงพระธาตุท่าอุเทน เป็นเวลาที่พระวิปัสสนาจารย์กำลังเทศนาและสอนกรรมฐานแก่ญาติโยมพุทธศาสนิกชน จึงหยุดรออยู่นอกสถานที่สอนกรรมฐาน ครั้นเมื่อผู้คนแยกย้ายกันกลับไปหมด จึงเดินเข้าไปกราบนมัสการตรงหน้าพระวิปัสสนาจารย์ สายตาของพระวิปัสสนาจารย์ประสานกับสายตาของสามเณรน้อยผู้มาใหม่ แล้วเกิดกระแสแห่งความคุ้นเคย เสียงของพระวิปัสสนาจารย์พูดกับสามเณรน้อยขึ้นว่า
“ บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะได้พบกัน เด็กน้อยจำเราได้หรือไม่ เราไม่เคยลืมแววตาคู่นี้เลย ”
ภาพเด็กตัวเล็ก ๆ คลานเข้าไปกราบพระธุดงค์ที่ปักกลดอยู่ใต้ต้นตะแบกใหญ่ กลับมาปรากฏชัดในมโนภาพของสามเณรน้อย แม้องคาพยพของใบหน้าพระผู้ที่นั่งอยู่ตรงหน้า จะผิดไปจากใบหน้าของพระธุดงค์ด้วยความชรา แต่น้ำเสียงและแววตามิเคยเปลี่ยนไปเลย สามเณรน้องจึงเปล่งเสียงออกมาด้วยความดีใจเป็นล้นพ้นว่า
“ ท่านอาจารย์นั่นเอง ที่ใต้ต้นตะแบก จริง ๆ ด้วยขอรับ เป็นท่านอาจารย์จริง ๆ ”
เมื่อหลวงปู่ได้พบกับพระธุดงค์ที่มาปักกลดใต้ต้นตะแบกท้ายหมู่บ้านอีกครั้งตามพยากรณ์แล้ว หลวงปู่เกิดความปีติและยอมรับว่า พระธุดงค์ที่พบตอนอายุ ๗ ขวบนั้น ช่างเป็นพระผู้พยากรณ์เหตุการณ์ได้แม่นยำ ก้มลงกราบอีกครั้ง ท่านพระวิปัสสนาจารย์จึงกล่าวว่า
“ เราชื่อ สีทัตต์ เณรมีนามใดกัน มาจากที่ใด ต้องการอะไรจากเราก็ขอให้บอกมาเถิด ”
หลวงปู่สุภา ได้กล่าวตอบด้วยความปีติเป็นล้นพ้นว่า
“ กระผมดั้นด้นมานมัสการพระคุณอาจารย์ก็ด้วยความปรารถนาจะได้รับการอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานจากพระคุณอาจารย์ตามแบบที่พระคุณอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดมา กระผมเรียนมูลกัจจายน์ห้าเล่มสำเร็จแล้วครับ ”
“ เณรน้อยเรียนมูลกัจจายน์มาแล้ว ใยไม่เรียนปริยัติธรรมต่อไป ไม่รู้หรือว่า การเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ เป็นมหาเปรียญ นักเทศน์ เป็นครูสอนพระปริยัติ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ก้าวหน้าในตำแหน่งการปกครอง ส่วนประโยชน์ทางโลกคือ เมื่อสึกออกไปแล้ว เทียบวุฒิการทำงาน หรือรับราชการได้ตำแหน่งดี เณรน้อยเอาดีทางธรรม ทางปฏิบัติอย่างเดียวไม่เสียดายเวลาที่หมดไปหรือ ถ้าสึกออกไปเป็นฆราวาส ก็ไม่ต้องมาอยู่ในกฎระเบียบ ๒๒๗ ข้อนี้อีกต่อไป คิดให้ดีนะเณร ”
พระอาจารย์สีทัตต์หยั่งเชิงสามเณรน้อยเพื่อค้นหาความตั้งใจ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าดูคนไม่ผิด แต่สามเณรน้อยตอบชัดถ้อยชัดคำว่า
“ กระผมต้องการเพียงทางเดียว คือปฏิบัติทางจิต หรือ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์มีความหมายมากขึ้น หากกระผมต้องการเป็นมหาเปรียญละก็ ไม่ลงทุนมาเสาะแสวงหาพระคุณอาจารย์ถึงท่าอุเทนนี่หรอกขอรับ ขออย่างเดียว รับกระผมเป็นศิษย์ กระผมจะอยู่ในโอวาทของพระคุณอาจารย์ทุกประการ ”
พระอาจารย์สีทัตต์ทดสอบความอดทนของสมาเณร ตั้งแต่การขบฉัน การทำงานหนักในการก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทน และการทดสอบด้านจิตใจ จนแน่ใจว่า จะทนรับการสอนที่หนักหนาสาหัสในการที่จะเรียนวิปัสสนากรรมาน จึงอบรมกรรมฐานให้แก่สามเณรสุภา เริ่มโดยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า “ พุทโธ ” ตั้งแต่แรก จนไม่ต้องภาวนา จากสมาธิเพียงชั่วแล่น ก็ค่อย ๆ กลายเป็นสมาธิที่ยาวนานและสามารถดำรงสติได้อย่างมั่นคง จึงให้ขึ้นธุดงควัตร ๑๓ ประการจนคล่อง จึงบอกกับสามเณรสุภาว่า
“ ต่อจากนี้ไป เป็นการปฏิบัติจริงในป่าเขาลำเนาไพร อันอุดมไปด้วยสิงสาราสัตว์และภูตพรายทั้งปวง อมนุษย์และพวกหมอผี นักล่าชีวิตมนุษย์ด้วยคุณไสย มนต์ดำ สิ่งที่เรากล่าวมา อบรมมา พึงนำมาใช้ให้ยิ่งยวด เพราะเธอจะต้องพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งเราในการเดินทาง ”
ข้ามโขงจากนครพนม ไปสู่พระราชอาณาจักรลาว ผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผจญความยากลำบากมากมาย ทั้งสัตว์ร้าย งูพิษ ต้นไม้พิษ ตลอดจนหมอผีและภูตไพรต่าง ๆ หลายหนที่ต้องฉันใบไม้อ่อน เพราะไม่มีสัปปายะจะให้บิณฑบาต แต่ก็ผ่านมาได้ จนพระอาจารย์สีทัตต์ยอมรับในความอดทนของสามเณรน้อยสุภา
ถึงจุดที่พระอาจารย์สีทัตต์พามาฝึก คือ “ ถ้ำภูควาย ” อันเป็นถ้ำเร้นลับ อยู่บนภูเขาที่มีลักษณะปลายยอดสองข้างโค้งเข้าหากัน มองคล้ายกับเขาควาย มีพระภิกษุมาจากสถานที่ต่าง ๆ มาชุมนุมกันเล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์สีทัตต์หลายรูป
เข้าสู่การเป็นพระภิกษุ
ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ สามเณรสุภามีอายุครบอุปสมบท พระอาจารย์สีทัตต์ขึงได้จัดเตรียมหารเครื่องบริขารจนครบ และนำสามเณรสุภาข้ามไปยังฝั่งลาว รอนแรมไปจนถึงภูความ ซึ่งพระอาจารย์สีทัตต์ได้อธิษฐานเป็นวิสุงคามสีมา พร้อมด้วยพระวิปัสสนาจารย์ ทำการอุปสมบทสามเณรสุภาในถ้ำนั้น โดยมีพระอาจารย์สีทัตต์เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระวิปัสสนาจารย์ร่วมเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ ศิษย์ในพระวิปัสสนาจารย์ติดตามมาเป็นพระอันดับ ได้รับฉายาว่า “ กันตสีโล ” นับแต่นั้นมา
พระอาจารย์สีทัตต์ได้ขอให้พระวิปัสสนาจารย์ที่มาร่วมปฏิบัติสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติทั้งในทางธุดงค์ ไปจนถึงคาถาอาคมป้องกันตัวจากสัตว์ร้าย อสรพิษ ภูตไพรทั้งปวง และเดินทางกลับท่าอุเทนเพื่อเข้าพรรษากาลเป็นปีแรกแห่งการเป็นสมมติสงฆ์ การออกเดินธุดงค์ภายใต้การดูแลของพระอาจารย์สีทัตต์ จึงทำให้ หลวงปู่สุภา มีความก้าวหน้าในการกำหนดอารมณ์และสติในการเผชิญภัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ในการเดินธุดงค์ผจญความยากลำบาก หลวงปู่สุภา ทำได้เป็นอย่างดี พระอาจารย์สีทัตต์ผู้เป็นอาจารย์รู้สึกนิยมในความก้าวหน้าของศิษย์เอกผู้นี้เป็นอย่างมาก สี่พรรษาเต็มแห่งการออกธุดงค์ เมื่อจำพรรษา พระอาจารย์สีทัตต์ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยคัมภีร์ปริยัติห้าหมวด ปละเร่งทดสอบอารมณ์กรรมฐานอย่างละเอียด พอขึ้นพรรษาที่ห้า พระอาจารย์สีทัตต์จึงบอกกับ หลวงปู่สุภา ว่า
“ สมควรแก่เวลาที่เณรน้อยจะต้องออกธุดงค์ด้วยตนเองแล้ว แต่สำหรับก้าวแรกในการธุดงค์ลำพังนี้ เราจะให้พระสองรูป เณรหนึ่งรูป ธุดงค์ไปกับเณรน้อย เณรน้อยจงคุ้มครองป้องกันภัยให้เขา คอยอบรมให้อยู่ในธุดงควัตร เหมือนที่เราเคยได้ทำกับเณรน้อยเมื่อสี่ปีมาแล้ว ”
หลวงปู่สุภา ได้ทำหน้าที่ควบคุมพระและเณร ธุดงค์ไปจนถึงภูควายและกลับมาท่าอุเทนอย่างปลอดภัย เป็นการสอบผ่านธุดงควัตรอย่างแท้จริง หลวงปู่สุภา เล่าต่อไปว่า
“ พระอาจารย์สีทัตต์มิได้เป็นพระวิปัสสนาจารย์อย่างเดียว แต่ท่านมีวิชาอาคมหลายแขนง สามารถถอดกายทิพย์ท่องไปในภูมิต่าง ๆ ได้ ซึ่งภาษานกและภาษาสัตว์ในป่า ท่านก็ฟังออก และเคยแสดงให้ หลวงปู่สุภา ดู และยังได้สอนให้ทำจนถึงแก่นอีกด้วย เรียกว่าสอนแบบไม่ปิดบัง แต่สำหรับภาษาสัตว์ ท่านไม่ขอเรียน ”
คำสั่งพระอาจารย์สีทัตต์
พุทธศักราช ๒๔๖๓ หลวงปู่สุภา ได้ตัดสินใจธุดงค์เดี่ยว จึงมากราบลาพระอาจารย์สีทัตต์เพื่อออกธุดงค์ พระอาจารย์สีทัตต์ได้สั่งสอนว่า
“ ไปให้ดีเถอะเณรน้อย เดินให้สม่ำเสมอ จิตรู้อารมณ์ อย่าเร็วนัก อย่าช้านัก ให้อยู่ในกลาง ๆ โบราณาจารย์ได้สั่งสอนศิษย์เป็นคติสอนใจว่า อยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง รู้ไหม” หมายความเมื่อ หลวงปู่สุภา พร้อมที่จะเดินทาง พระอาจารย์สีทัตต์ได้กล่าวคล้ายคำสั่งเสียด้วยความห่วงใยว่าว่าอย่างไร อยากถึงเร็วให้คลาน คือไปแบบไม่รีบร้อนด่วนได้ จะถึงจุดหมายแบบปลอดภัย ให้ลุกลี้ลุกลนเกินไป ก็จะเหมือนคนวิ่งไปด้วยความคะนอง สะดุดล้ม แข้งขาหัก เดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องช้าไปอีกนานทีเดียว
“ เณรน้อยจงไปภูควาย ออกจากภูควายแล้ว ให้ไปท่าเดื่อ จากท่าเดื่อไปหนองคาย ที่นั่นเธอจงสละธุดงควัตร แล้วเร่งเดินทางไปทางเหนือ ที่นั่นเธอจะได้พบพระอาจารย์องค์หนึ่ง มีความเชี่ยวชาญด้านกสิณและวิชชาแปดประการ มีอภิญญาสูงมาก เธอจะได้รับความรู้จากท่านเป็นอันมาก ที่ต้องให้สละธุดงควัตร เพราะท่านเหลือเวลาไม่มากแล้วในการสั่งสอนเณรน้อย หากเดินธุดงค์แบบธรรมดาน่าจะสายเกินไป ”
จากภูควาย หลวงปู่สุภา ข้ามมาท่าเดื่อ แล้วอธิษฐานจิตออกจากธุดงควัตรที่ตัวจังหวัดหนองคาย ฝากบริขารธุดงค์ไว้กับพระที่คุ้นเคยในระหว่างธุดงค์ภูควาย และจับรถไฟเข้ามากรุงเทพฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการไปสู่ภาคเหนือเพื่อแสวงหาพระอาจารย์ตามคำสั่งของพระอาจารย์สีทัตต์ เหมือนโชคชะตาเป็นใจให้ หลวงปู่สุภา เพราะในขณะที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านก็ได้ข่าวพระอาจารย์รูปหนึ่งที่แถววังนางเลิ้ง เขาบอกกันว่า
“ ท่านพระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข เกสโร แห่งวัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ซึ่งเสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ถึงที่วัดทีเดียว ”
หลวงปู่สุภา จึงเดินทางไปวัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ด้วยการเดินทางสมัยนั้นยังลำบากและเหน็ดเหนื่อย แต่พอเดินทางมาถึงวัดอู่ทอง เมื่อพอเข้าเขตวัด หลวงปู่รู้สึกว่าเยือกเย็นและมีอะไรบางอย่างที่บอกว่า ที่นี่แหละคือที่ ๆ พระอาจารย์สีทัตต์กำหนดให้มา
เบื้องหน้าผู้สำเร็จวิชชาแปดประการ
เมื่อ หลวงปู่สุภา เดินทางมาถึงวัดอู่ทอง จึงเดินทางไปกุฏิ พอเห็นกุฏิหลวงปู่ศุข ก็จะขึ้นไปนมัสการ ขณะล้างเท้า เสียงของหลวงปู่ศุขก็ดังมาจากชั้นบนของกุฏิ
“ มาถึงแล้วหรือพ่อเณรน้อย กำลังรออยู่พอดี ล้างเท้าแล้วขึ้นมาเห็นหน้าเห็นตากันหน่อย ”
มีแต่เสียงทักทาย แต่ไม่ปรากฏหลวงปู่ศุขที่นอกชาน เมื่อมองขึ้นไปไม่เห็นใคร จึงได้คิดในใจว่า … นี่คือพลังปราณของผู้ที่สำเร็จ สามารถออกเสียงให้ดัง ค่อย หรือไกล ใกล้แค่ไหนก็ได้ ขึ้นไปชั้นบนของกุฏิแล้ว ก็เห็นพระภิกษุรูปร่างสันทัด ผอมเกร็ง แต่ผิวพรรณวรรณะผุดผ่อง คล้ายกับทาด้วยขมิ้น ทว่า เมื่อคลานเข้าไปกราบต่อหน้าท่านและลุกขึ้นนั่งพนมมือ ได้สังเกตใกล้ ๆ พบว่า ไม่ใช่ขมิ้น แต่เป็นแสงอะไรบางอย่างที่เรื่อเรืองอยู่บนผิวพรรณของหลวงปู่ศุข ที่ทำให้เกิดความสง่าคล้ายทาขมิ้น หลวงปู่ศุขได้มองมาที่หลวงปู่สุภา และเอ่ยขึ้นว่า
“ นี่เอง เณรที่ท่านสีทัตต์ได้บอกไว้ในฌาน เป็นคุณนี่เอง เณรน้อยต้องการอะไร จะเรียนอะไรก็บอกมาได้ไม่ขัดข้อง ท่านสีทัตต์ฝากมาแล้วนี่ ”
คำว่า “ ฌาน ” คำว่า “ ฝากมาแล้วนี่ ” ทำให้ หลวงปู่สุภา ประจักษ์ว่า อภิญญาจิต การถอดกายทิพย์ การใช้โทรจิต มีจริง ก่อนที่ท่านจะมานมัสการหลวงปู่ศุข ทางพระอาจารย์สีทัตต์ได้ถอดกายทิพย์มาฝากฝัง หลวงปู่สุภา กับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ไว้เรียบร้อยแล้วนั่นเอง หลวงปู่สุภา จึงไม่กล้าที่จะเอ่ยว่า จะมาเรียนอะไร นอกจากจะกล่าว
“ กระผมขอให้เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์จะเมตตาอบรมสั่งสอนก็แล้วกันขอรับ เห็นว่าอะไรเหมาะ อะไรควร ก็สั่งสอนให้กระผมก็แล้วกัน ”
เมื่อหลวงปู่ศุขได้ยินดังนั้น ก็หัวเราะ หึ หึ ด้วยความพอใจ แล้วกล่าวกับ หลวงปู่สุภา ว่า
“ สมแล้วที่เป็นศิษย์ท่านสีทัตต์ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวใช้ได้ หลายรูป มาถึงไม่ดูวาสนาบารมีตนเองว่าจะสามารถรองรับได้หรือไม่ จะเรียนโน่น จะเรียนนี่ สุดท้ายก็กลับไปมือเปล่า เพราะขาดวาสนาบารมี เพราะเมื่อขาดวาสนาบารมีและการเจียมตัวแล้ว อะไรก็ไม่สำเร็จ เอาละ ไปพักผ่อนก่อน ถึงเวลา จะเรียกมาสอบฐานความรู้และประสิทธิประสาทวิชาต่อไป ”
เมื่อถึงเวลา หลวงปู่ศุขก็ได้สอบอารมณ์กรรมฐานและดูพื้นฐานการศึกษาวิชาอาคมของท่าน ที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์สีทัตต์ เมื่อทดสอบแล้วเห็นว่าบกพร่องตรงไหน ก็ช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง ปรับระดับการเข้าฌาน การทำกสิณและการเพ่งด้วยกสิณเป็นประการต่าง ๆ หลวงปู่ศุขสอนว่า
“ มีวิชาหลายอย่างที่ปู่สำเร็จ แต่บารมีเณรน้อยนั้นเรียนไม่ได้ โดยเฉพาะวิชชาแปดประการที่เณรน้อยต้องการจะเรียน วาสนาบารมีของเณรน้อยไปไม่ได้ จะให้วิชาสำคัญ คือ การลงนะหน้าทอง และการเสกให้ทองเข้าไปแทรกในอณูภายในร่างกาย เขาเรียกว่า เป่าทองเข้าตัว ”
วิชาเป่าทองเข้าตัว / อภิญญจิตตัวสำคัญ
หลวงปู่ศุขได้เมตตาอธิบายให้เข้าใจถึงหลักของการเป่าทองเข้าตัวอย่างละเอียด ซึ่ง หลวงปู่สุภา ได้บันทึกไว้ว่า
“ วิชาเป่าทองเข้าตัว มิใช่เพื่อมหานิยม แต่ยังสามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ทั้งจกคมหอก คมดาบ ปละปืนไฟ ไปจนถึงมีมหาอำนาจแล้วแต่จะประสิทธิ์ประสาทในด้านใด ต้องพิจารณาบุคคลแต่ละบุคคลที่จะลงแผ่นทองหรือเป่าทองให้ ว่าเป็นอย่างไร บารมีพอที่จะรับทองได้กี่แผ่น แต่ละคนล้วนมีข้อปลีกย่อยผิดแผกออกไปแล้วแต่กรณีต้องดูว่าจะลงให้ทางไหน ตามที่กำหนดไว้ในตำรับของครูบาอาจารย์เท่านั้น จะนอกเหนือหรือขาดตกบกพร่องไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว การที่ทองจะแทรกเข้าไปในสู่ทุกอณูไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ต้องมีหัวใจสองอย่างคือ น้ำมันว่าน และเกสร ๑๐๘ ชนิด เคี่ยว ผสมด้วยพระเวทย์อาคมที่ต้องแก่กล้าด้วยพลังอภิญญาเท่านั้น หากทำไม่ถูกต้อง จะไม่สามารถเปิดรูขุมขนของผู้ที่จะเป่าทองเข้าตัวได้ การเป่าก็จะไม่ได้ผลทั้งสิ้น ไม่เกิดพลังใด ๆ เป็นสูญเท่านั้น การจุดเหล็กจาร ที่จุ่มน้ำมันว่านและเกสร ๑๐๘ ชนิด และการเป่าภาวนาเพื่อดันทองเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่จะลง และให้กำหนดให้ผู้รับการลง หรือเป่าทอง กำหนดจิตอธิษฐานเอาเอง การเรียนการสอนทำได้เฉพาะตอนกลางคืนที่เป็นเวลาสงัด เพราะตอนกลางวันไม่สามารถจะเรียนได้ ด้วยมีคนมานมัสการหลวงปู่ศุข ขอโน่นขอนี่ จนท่านไม่มีเวลาจำวัด เรียกว่า หัวบันไดไม่แห้ง แต่หลวงปู่ศุขก็ไม่เคยท้อถอย หรือแสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด”
หมากหินยอดของขลัง
หลวงปู่สุภา มีหน้าที่คอยอุปัฏฐากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าด้วยการตำหมากถวาย ที่หลวงปู่ศุขเคี้ยวหมากติดต่อกัน ไม่ใช่ว่าท่านเคี้ยวหมากจนติด แต่ที่ท่านต้องเคี้ยวติดต่อกัน ก็เพราะ ญาติโยมที่มานั้น จะจ้องขอชานหมากของหลวงปู่ศุขที่เคี้ยวแล้ว เพื่อติดตัว นำไปป้องกันอันตราย เมื่อหลวงปู่ศุขพูดคุยกับญาติโยมไป ท่านก็เคี้ยวหมากไปเรื่อย ๆ พอเขาจะลากลับ ก็จะขอชานหมากของท่าน ท่านก็จะคายชานหมากออกมาที่ฝ่ามือ จัดให้เป็นก้อนกลม ๆ ด้วยการปั้น ชานหมากที่ปั้นแล้วท่านจะเอามาไว้ในฝ่ามือที่พนม หลับตาภาวนาคาถาของท่านครู่ใหญ่ จึงเป่าลมปราณลงไปในฝ่ามือที่แบออกดัง “ เพี้ยง ” จากนั้นก็ยื่นให้กับญาติโยมที่ขอคนละเม็ด ตอนแรก หลวงปู่สุภา ก็คิดว่าเป็นชานหมากเสกธรรมดา แต่มีหลายคนที่รับมาแล้ว ไม่ได้ระวัง เลยหลุดจากมือ ตกลงกระทบพื้นเสียงดัง “ แป๊ก ” คล้ายกับลูกหิน หรือลูกกระสุนยิงนกที่ปั้นด้วยดินเหนียวตากแห้งตกกระทบพื้น ก็ชานหมากธรรมดาน่ะ นุ่ม แม้ตากแห้งก็ร่วนกรอบ แต่นี่หลวงปู่ศุขเสกแล้วหล่นลงพื้นดัง แป๊ก จึงรู้สึกแปลกใจ เมื่อมีเวลา เลยแอบขอญาติโยมดูด้วย แล้วพิจารณาหลวงปู่สุภา ท่านบอกว่า
“ ลูกอมชานหมากที่หลวงปู่ศุขปั้นแล้วเสกเพี้ยง แทนที่จะมีสภาพเป็นชานหมากนุ่ม ๆ กลับเปลี่ยนสภาพเป็นชานหมากที่แข็งมาก บีบดูเหมือนบีบลูกหิน หากไม่ได้ลูบ ก็ต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปแล้ว หลวงปู่ศุขเปลี่ยนสภาพจากชานหมากนุ่ม ๆ ให้เป็นชานหมากหินไปได้ในเวลาเพียงหนึ่งอึดใจเท่านั้น ”
เมื่ออยู่กันสองต่อสอง เวลาเรียน หลวงปู่ศุขก็พูดกับ หลวงปู่สุภา ว่า เณรน้อยสนใจไม่ใช่หรือ หมากหินน่ะ เห็นไปแอบขอญาติโยมดู พลังจิตของเณรสามารถทำได้นะ แต่ต้องได้รับคำแนะนำอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำได้แล้ว หลักไม่มีอะไรมากหรอก เป็นการใช้อำนาจปฐวีกสิณ เปลี่ยนชานหมากที่เป็นของเหลว หยุ่น ธาตุน้ำ ให้แข็งเป็นหิน เป็นดิน เขาเรียกว่า “ เคลื่อนย้ายถ่ายเปลี่ยนธาตุ ” โดย หลวงปู่สุภา ก็ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ศุขจนสามารถเสกชานหมากได้ในที่สุด โดยการเจริญสมาธิ เข้าฌานและเข้ากสิณ จนถึงการภาวนา และเปลี่ยนจนชานหมากแปรสภาพไปในที่สุด จนเสกให้หยุ่นเหมือนกับลูกยางก่อน แล้วจึงเร่งพลังขึ้นไปจนถึงที่สุด หลวงปู่สุภา เล่าตอนนี้ว่า
“ เสกได้จริง แต่ไม่เหมือนกับหลวงปู่เสก คือของหลวงปู่ศุขเป็นหินจริง ๆ แต่ของท่านเสกให้แข็งได้แต่ภายนอก แต่ภายในยังไม่แข็ง เรียกว่า บีบแรง ๆ กระแทก ๆ ก็จะแตกเห็นเป็นชานหมากธรรมดาที่แห้ง ไม่แข็งเป็นหินทั้งหมด ด้วยบารมีท่านไม่อาจสู้หลวงปู่ศุขได้ เหมือนคำโบราณ ‘ ศิษย์ไม่อาจคิดสู้ครูได้ ”
หลวงปู่สุภา ทำหน้าที่คอยอุปัฏฐากหลวงปู่ศุขจนได้เวลาอันสมควร หลวงปู่ศุขจึงได้เรียกให้ หลวงปู่สุภา มาพบ และได้บอกว่า เณรน้อยได้เรียนมาพอสมควรแล้ว วิชาที่เรียนไปก็พอจะช่วยเหลือคนได้ เณรน้อยทิ้งธุดงควัตรมานานแล้ว เณรเหมาะกับธุดงค์ เณรชอบของเณรอย่างนั้น ปู่เองก็เคยเป็นนักธุดงค์ แต่เมื่อโยมแม่ขอให้อยู่ใกล้ชิด ก็เลยแขวนกลดแต่นั้นมา เณรน้อยเตรียมตัวให้พร้อม ปู่จะสอนวิชาที่ไม่เคยมีผู้ใดได้เล่าเรียนมาก่อน และวาสนาบารมีของเณรน้อยเรียนวิชานี้ได้
สุดยอดเคล็ดวิชา สำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า
หลังจากที่หลวงปู่ศุขปรารภ ให้ หลวงปู่สุภา กลับสู่เส้นทางธุดงค์ โดยได้กำหนดวันเดินทางไว้แล้ว แต่ก่อนการเดินทางเพียงสองวัน หลวงปู่ศุขได้ให้ หลวงปู่สุภา เตรียมตัวเรียนวิชาที่เป็นสุดยอดเคล็ดวิชาที่ท่านบอกว่า หลวงปู่สุภา จะเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ด้วยหาผู้มีวาสนาบารมีจะเรียนได้ยากเต็มที ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลูบุหรี่ ถูกลูกศิษย์หลวงปู่ศุขเตรียมไว้ให้ หลวงปู่สุภา เรียบร้อย เพื่อเป็นเครื่องบูชาครูกับหลวงปู่ศุข หลวงปู่ได้นำไปไว้บนที่บูชาพระ และบอกกับ หลวงปู่สุภา ให้รอเวลาตอนสงัดคน จะสอนเคล็ดวิชาให้จนหมด พร้อมกับมอบตำราให้ไปติดตัว วิชานี้เรียกว่า “ แมงมุมมหาลาภ ” ต่อไปเณรน้อยจะต้องสงเคราะห์ผู้คนอีกมาก ความจน ความขัดข้อง การทำมาหากินฝืดเคือง เป็นทุกข์อย่างยิ่งสำหรับฆราวาส นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ทางโลก
ทำไมจึงต้องเป็นแมงมุม มีเรื่องราวที่เณรน้อยควรจะรู้ไว้เป็นเครื่องประเทืองปัญญา เณรน้อยเคยเห็นแมงมุมตัวไหนอดอยากปากแห้ง ตายคาใยที่มันขึงไว้ดักอาหารหรือไม่ แมงมุมเป็นสัตว์ขยันและสะอาด แมงมุมไม่ออกล่าเหยื่อในที่ต่าง ๆ เหมือนสัตว์ทั่วไป แต่แมงมุมจะชักใยสร้างเป็นอาณาเขตเอาไว้เพื่อดักแมลง ใยแมงมุมของแมงมุม กว่าจะได้ต้องมีความมานะพยายามอย่างยิ่ง ที่ว่าแมงมุมเป็นสัตว์สะอาดก็คือ มันจะไม่ออกไล่ล่าเหยื่อนอกเขตใยของมัน มันจะไม่ไล่แมลงตกใจบินหรือคลานมาติดที่ใยของมัน แต่มันจะรออยู่กับที่ รอให้เหยื่อเข้ามาติดใยของมัน มันจึงออกมาพันซ้ำด้วยใย และจับกิน พูดให้ฟังง่าย ๆ ก็คือ แมงมุมจะกินสัตว์ที่ถึงฆาต หรือถึงแก่วาระหมดชีวิต ถือว่าหลงเข้ามาในใยที่ดักไว้ คือแมลงที่หมดเวลาอยู่บนโลกนี้ ถือว่าหมดเวลา ถึงที่ตายแล้ว จึงมาติดใย ไม่ต้องออกล่าเหยื่อ ก็มีแมลงหลงเข้ามาให้กิน จนเจ้าแมงมุมหมดบุญคือตายจากโลกตามเวลาสมควร
การเปิดร้านค้าขาย เปิดบริษัทขายสินค้าเช่นกัน เหมือนกับแมงมุม คือดักใยล่อเอาไว้ หากไม่มีลูกค้า หรือแมลงมาติด ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ คือกิจการต้องล้มไปในที่สุด การทำแมงมุมชักใย คือการใช้คาถาอาคมสร้างแมงมุมและใยอาคม เพื่อให้บริษัทห้างร้านที่มีแมงมุมชักใยอาคมนี้มีลูกค้ามาติดต่อ มาซื้อ มาขาย มาเปลี่ยนอย่างคึกคัก มีกำรี้กำไรสมดังที่คิดไว้ นี่แหละคือหัวใจสำคัญของแมงมุมอาคมที่แจะสอนเจ้าให้เอาไว้ช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ให้ร่ำรวยมีฐานะดีต่อไปในภายภาคหน้า ปู่มอบให้เณรน้อยเป็นวิชาสุดท้ายก่อนจากกัน และเป็นศิษย์คนแรกและคนสุดท้าย ด้วยว่าชีวิตของฉันไม่ยืนยาวพอที่จะหาศิษย์มาสืบทอดวิชาแมงมุมนี้ได้อีก
หัวใจสำคัญของวิชาแมงมุมนั้น แบ่งออกเป็นสองขั้นตอนของการสร้าง
๑. ตัวแมงมุม ต้องสร้างให้มีลักษณะคล้ายกับแมงมุม ทั้งสัดส่วน ลำตัว และส่วนที่เป็นขา ใส่นัยน์ตาและเขี้ยวให้พร้อม เรียกว่า ต้องให้ดูออกว่า เหมือนแมงมุมจริง ๆ เรียกธาตุทั้ง ๔ ลงอักขระปลุกเสกจนแมงมุมขยับตัวในอุคหนิมิต ถึงจะสำเร็จตามที่ต้องการ
๒. ส่วนที่เป็นใย ต้องเอาสายสิญจน์ หรือด้ายที่เตรียมไว้มาเสกให้ได้ที่เสียก่อน จึงเริ่มชักใยแมงมุม หำหรับนำแมงมุมไปเกาะไว้บนใย
๓. ลงอักขระเรียกสูตร เรียกนามจนครบตามตำรับที่ฉันสอนให้ทุกอย่าง เมื่อประกอบเรียบร้อยแล้ว ปลุกเสกให้เห็นแมงมุมเคลื่อนไหวไปมาบนใยในอุคหนิมิต จึงเป็นเสร็จตามขั้นตอน เอาไปติดไว้ในร้านที่ผู้คนมองเห็นได้ถนัด นั่นแหละคือมนต์เรียกคนเข้าร้าน จะว่าเป็นมนต์จินดามณีก็คงจะได้กระมัง
เมื่อถึงเวลาที่จะออกเดินทาง หลวงปู่สุภา ก็มากราบนมัสการลาหลวงปู่ศุข ซึ่งอวยชัยให้พรและประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วหลวงปู่ศุขก็กล่าวว่า
“ ไม่ไปส่งเณรน้อยละนะ ไปตามทางที่เณรน้อยมา ต่อไปเราจะไม่ได้พบกันอีก นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่แจะได้พบกับเณรน้อย อายุของปู่ใกล้จะแตกดับแล้ว รู้สึกยินดีที่ได้รับเณรน้อยไว้เป็นศิษย์ในภายภาคหน้า เณรน้อยคือผู้สืบทอดตำราของปู่ในด้านแมงมุมคนแรกและคนเดียว หากเณรน้อยไม่ประสิทธิ์ประสาทต่อไปก็จะสิ้นสุดลงในมือของเณรน้อยนั่นเอง ”
เมื่อถึงตอนนี้ หลวงปูสุภาต้องหยุดเล่าเรื่อง เหมือนกับว่า ท่านจะระลึกถึงหลวงปู่ศุข พระอาจารย์ของท่าน แล้วรู้สึกตื้นตันใจ จนต้องหยุดรำลึกถึงความปีติ ท่านได้เล่าต่อไปว่า
“ เกือบลืมไป ยังมีวิชาอีกอย่างหนึ่งที่ใช้คู่กับแมงมุม คือ การลงอักขระบนผืนผ้า ท่านเรียกว่า ‘ ยันต์รับทรัพย์ ‘ ผ้ายันต์รับทรัพย์ที่ลงอักขระแล้วปลุกเสก จะเหมือนการปูผ้าไว้รอรับเงินที่จะมีผู้มากองให้ บูชาติดตัวเป็นมหานิยม อยู่ในร้านค้าก็เรียกลูกค้า ใช้ติดกับคันธง ปักไว้ให้ชายปลิวไปตามลม ปลายธงสะยัดไปทางไหน ก็มีผู้คนแห่ไปทางนั้น ทำมาค้าขายก็รับทรัพย์เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ”
การที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้พูดว่าจะพบกันเป็นครั้งสุดท้าย ก็เป็นจริง เพราะหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงปู่สุภา อยู่ระหว่างการออกธุดงค์ และมารู้ข่าวก็เมื่อมีการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ศุขไปแล้ว
เส้นทางสู่โลกที่สาม
เมื่อกลับมาจากเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข หลวงปู่สุภา ได้กลับเข้าสู่การออกธุดงค์อีกครั้งโดยรับบริขารธุดงค์ที่เคยฝากไว้ เพื่อกลับสู่เส้นทางของการแสวงหาความวิเวก ท่านได้เดินทางไปทางภาคเหนือ และข้ามชายแดนสู่ประเทศพม่า ว่าจะไปนมัสการเจดีย์ชะเวดากองและพระมุเตาในหงสาวดี แต่ท่านก็มิได้ไปด้วย ท่านตัดทางเข้าสู่ป่าทึบ และได้พบกับพระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่าที่ปลีกวิเวกไปแสวงหาความสงบบนถ้ำ เทือกเขาลึก
หลวงปู่สุภา ดั้นด้นไปจนพบที่จำศีลภาวนาของพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระชาวพม่า ได้พบว่าเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่การบูชา ทว่าการสอนวิปัสสนาผิดแผกแตกต่างไปจากของทางฝ่ายไทย ซึ่งสอนเป็นแบบที่เรียกว่า กำหนดหนอ คือจิตอยู่ อิริยาบถ ๔ หรือที่ไทยเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน ซ้ายหนอ ขวาหนอ เข้าหนอ ออกหนอ ซึ่งเมื่อ หลวงปู่สุภา เข้าเรียนตามแบบที่พระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่าสอนก็รู้สึกได้ว่า “ ไม่ถูกกับอัธยาศัย ” เรียกว่าไม่สามารถเล่าเรียนได้ เพราะขัดกับรากฐานทางกรรมฐานที่ได้เล่าเรียนมาจากพระวิปัสสนาจารย์ทางฝั่งไทย จึงได้กราบนมัสการลาพระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่า แล้วออกแสวงหาความวิเวกไปตามลำพัง ตามป่าเขาลำเนาไพรในพม่า ได้ผจญภัยนานัปการ จนท่านพูดได้ว่า เป็นธุดงค์ที่ตื่นเต้นและเสี่ยงที่สุดตั้งแต่เดินทางธุดงค์เดี่ยวมาเป็นเวลาพอสมควร
ระหว่างที่ธุดงค์อยู่ในพม่า ได้พบกับพระธุดงค์ไทยหลายรูป บางรูปบอกว่าท่านจะธุดงค์ออกจากพม่าไปอินเดีย เพื่อไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงจะกลับ ท่านจึงครุ่นคิดว่า การธุดงค์มาประเทศพม่า ถือเป็นประเทศที่ ๒ หากเดินทางต่อไปยังอินเดีย ก็เป็นโลกที่ ๓ และเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาเสียด้วย อย่ากระนั้นเลย หาวัดจำพรรษาเสียก่อน พอออกพรรษาแล้วค่อยแบกกลดธุดงค์สู่โลกที่ ๓ ต่อไป เพราะท่านชอบการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ จนกล่าวได้ว่า เข้าไปในสายเลือดเลยทีเดียว เส้นทางสู่โลกที่สามยาวไกล แจะสิ้นสุดตรงไหนก็แล้วแต่ว่า หลวงปู่สุภา จะหยุดลงด้วยตัวของท่านเอง
ออกพรรษา เวลาแห่งการจาริกสู่โลกที่สาม เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้
ท่องไปในโลกกว้าง
ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สุภา เตรียมบริขารธุดงค์ออกจากป่ามายังเมืองท่าในพม่า ซื้อตั๋วเรือเดินทะเลเพื่อออกจากพม่าไปยังดินแดนอันเป็นพุทธภูมิ คือ ประเทศอินเดีย ท่านต้องรอนแรมอยู่ในทะเล ผจญคลื่นทะเลอยู่ ๑ เดือน ๒๕ วัน เรือจึงจอดเทียบท่าที่ประเทศอินเดีย เมื่อลงจากเรือ ก็ธุดงค์ต่อไปเรื่อย ๆ ผจญความยากลำบากแสนเข็ญ เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่เป็นฮินดู ที่เป็นพุทธอยู่น้อย ก็ต้องแสวงหาสัปปายะด้วยความยากลำบาก ได้ฉันบ้าง อดบ้างไปตามแกน แต่ดีที่ท่านไม่เจ็บป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ จึงทำให้ท่านสามารถผ่านเส้นทางอันทุรกันดารไปได้จนตลอดรอดฝั่งในที่สุด
จากดินแดนอันแผดเผาด้วยเปลวแดด สู่ดินแดนอันเหน็บหนาวของหิมพานต์ที่ชาวอินดูเชื่อว่า เป็นที่สถิตของจอมเทพ ผู้มีพระนามว่า “ องค์ศิวะมหาเทพ ” ซึ่งในประเทศไทยเรียกว่า “ พระอิศวร ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของมหาเทพของฮินดู ภูเขาหิมาลัยสูงเสียดฟ้า ยอดปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี ตลอดชาติ เป็นแหล่งรวมของฤๅษีจากทั่วสารทิศ จะมาชุมนุมกันที่นี้ เรียกกันว่า “ เมืองฤๅษีเกษ ” อยู่ชานภูเขาหิมาลัย เมืองนี้เป็นเมืองของฤๅษีที่ล้วนมีฤทธิ์อย่างถึงที่สุดของอำนาจต่าง ๆ เป็นนานาประการ ความหนาวเหน็บ ทำให้หลวงปู่สุภา ได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ต้องอาศัยเตโชกสิณในการช่วยสร้างความอบอุ่น เวลาออกบิณฑบาต ก็ต้องเดินทางระยะไกล กว่าจะเจอบ้านที่มีอัธยาศัยในการทำทาน ก็ต้องเดินกันกว่า ๘ กิโลเมตร ฝ่าความหนาวไปบิณฑบาตเพียง ๓ วันครั้ง บางครั้งถึง ๗ วัน แต่ท่านก็อดทน
สามปีในแดนพุทธภูมิ ท่านได้แวะนมัสการสังเวชนียสถาน จนพบกับอาจารย์วงศ์ ได้พูดคุยกันในเรื่องธรรมะและวิชาอาคม ในที่สุดท่านก็บอกว่า ท่านอยู่ในอัฟกานิสถาน (ตอนยังไม่มีสงครามกลางเมือง) อยู่กับพวกศาสนิกชนที่นั่น ให้ตามไปแลกเปลี่ยนความรู้กันที่นั่น ท่านจึงเดินทางผ่านช่องแคบไคเบอร์ เข้าสู่อัฟกานิสถาน จนพบพระอาจารย์วงศ์ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กันพอสมควร จึงเดินทางผ่านช่องแคบไคเบอร์กลับอินเดีย และเดินทางต่อไปที่ประเทศจีน ตามเส้นทางสำคัญจากอินเดียด้วย ท่านได้รู้จากพุทธศาสนิกชนชาวจีนท่านหนึ่งที่มีรกรากเดิมอยู่ปักกิ่ง เขาบอกกับท่านว่า
“ ที่ซิมซัวเป็นภูเขาสูง เป็นที่อยู่ของอาจารย์ตัน ฮกเหลียง พระอาจารย์รูปนี้เชี่ยวชาญในการเดินลมปราณรักษาโรค เพื่อกำหนดจิตใจ การเข้าฌานชั้นสูง หากต้องการศึกษาต้องไปที่นั่น ”
เหมือนถูกท้าทาย หลวงปู่สุภา จึงได้ธุดงค์ข้ามจีน ไปจนถึงปักกิ่ง ได้ค้นหาซิมซัวจนพบ และขึ้นไปหาอาจารย์ตัน ฮกเหลียง เพื่อขอเรียนวิชาลมปราณ ท่านอาจารย์ตัน ฮกเหลียง ได้เมตตาสอนให้ทั้งที่สังขารของท่านไม่สมบูรณ์นัก พอจบหลักสูตรท่านอาจารย์ตัน ฮกเหลียงก็ถึงแก่กรรม รวมเวลาการเรียนได้ ๓ เดือนเต็ม จากปักกิ่ง ท่านได้เดินทางรอนแรมไปจนถึงยุโรป ได้ไปอยู่ที่มหานครปารีสระยะหนึ่ง และเดินทางข้างไปฝั่งยุโรปตะวันออกหลายประเทศ เป็นการหาประสบการณ์ในโลกใบใหม่ที่สมณะอย่างท่านต้องการจะเรียนรู้ ท่านย้ำว่า
“ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ธุดงควัตรของท่านไม่เคยบกพร่อง บิณฑบาตทานสัปปายะจนได้ ไม่เคยละเว้นแม้แต่ครั้งเดียว เพราะถือว่านั่นคือกฎระเบียบและหัวใจของพระธุดงค์ ”
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตจากยุโรปตะวันออก ท่านกลับทางเส้นทางเดิม ผ่านจีน ผ่านอินเดีย ผ่านพม่า เข้าไทยทางภาคเหนือ แล้วตัดเข้าสู่อีสาน โดยข้ามจากเขตประเทศลาวเข้าสู่ดินแดนไทยทางด้าน บ้านพุนบก ตำบลยอดซอง อำเภอเดชอุดม จังหวัด อุบลราชธานี ได้พบกับพระภิกษุชราอายุถึง ๑๐๐ กว่าปี คือหลวงปู่มั่น ทตฺโต (คนละองค์กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อย่างไรก็ตาม หลวงปู่สุภาได้พบหลวงปู่มั่น ในช่วงเวลาหนึ่ง) มีวิชาอาคมแขนงต่างๆและมีความเชี่ยวชาญในด้านกษิณและฌานสมาบัติต่างๆ ท่านได้สั่งสอนวิชาการให้กับหลวงปู่สุภาเป็นเวลา ๓ ปีเต็ม จึงสำเร็จตามหลักสูตรที่หลวงปู่มั่นได้วางไว้ให้
ต่อมาท่านได้ยินว่าในประเทศเวียดนามมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรของเอเซีย เป็นหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก หลวงปู่สุภาจึงกราบลาหลวงปู่มั่น ธุดงค์เข้าไปเวียดนาม ไปเล่าเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจนสำเร็จ
พบพระอาจารย์ชื่อดังยุคอินโดจีน
หลวงปู่สุภา ท่านเป็นผู้ชอบเล่าเรียนศึกษา ได้ยินว่าที่ใดมีพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมและวัตรปฏิบัติดี ท่านก็มักจะไปขอเล่าเรียนวิชาการ รายนามพระอาจารย์เท่าที่ หลวงปู่สุภา จำได้ก็มี
หลวงพ่อทบ วัดชนแดน
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และอีกหลายรูป
หลวงปู่สุภา ได้วิชาของแต่ละสำนักมาเพิ่มเติมจนมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก เป็นศิษย์ที่มีครูบาอาจารย์และมีวิชาอาคมสาขาต่าง ๆ เป็นอันมาก แม้แต่เคยดั้นด้นไปขอเรียนวิชาปรอทสำเร็จจาก หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค แต่มีเหตุให้ไม่ได้เรียน โดยหลวงพ่อปานได้ออกจากที่นัดหมาย และเขียนบอกไว้ว่า อย่าตามไป เพรากันดารและวาสนาที่เรียนนั้นไม่มี แม้แต่หลวงพ่อโอภาสี หลวงปู่สุภา ก็เคยพบปะสนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนวิชาความรู้มาแล้วอย่างโชกโชน
ไม่ว่าจะธุดงค์ไปที่ใดในประเทศไทย หลวงปู่จะสร้างความเจริญไว้เสมอ เช่นสร้างวัด สร้างศาลาการเปรียญ สร้างสำนักสงฆ์ สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ในถิ่นทุรกันดาร ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสาธุชน หลายครั้งหลายหนที่มีผู้คนศรัทธาเหนี่ยวรั้งให้ท่านหยุดธุดงค์มาปักหลักเป็นเจ้าอาวาสวัด ให้พวกเขา เป็นที่พึ่งทางใจ แต่หลวงปู่เปรียบเสมือนโคถึกที่เคยเที่ยวอยู่ในเถื่อนถ้ำเขาลำเนาไพร ย่อมไม่ยินดีในการที่จะถูกกักขังไว้ในล้อมคอกอันคับแคบและอึดอัด ท่านแบกกลดธุดงค์จากมา ท่ามกลางน้ำตาอาลัย ชีวิตของท่านคุ้นเคยกับเปลวแดด การจำวัดกลางดิน ฉันกลางทราย แสวงหาความวิเวกในป่า เจริญภาวนาหลีกเร้นจากผู้คน การที่จะต้องมานั่งจำเจ มาคลุกคลีกับผู้คน ย่อมไม่ถูกกับอัธยาศัยของท่าน จึงไม่มีผู้ใดสามารถทัดทานให้ท่านได้หยุดการออกธุดงค์แล้วแขวนกลด ท่านเคยบอกว่า หากว่าสังขารของท่านยังอำนวยให้การเดินธุดงค์แล้ว ท่านจะไม่หยุดธุดงค์เป็นเด็ดขาด
หลวงปู่สุภา จากบ้านเกิดไปตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ และเป็นพุทธบุตรที่เดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรมาตลอด เมื่อมีโอกาสจึงระลึกถึงบ้านเกิดที่ อ.วาริชภูมิ โดยปรารภว่า บัดนี้ญาติของเราทั้งฝ่ายบิดาและมารดาไม่เคยได้พบเห็นเราในสภาพของพระภิกษุ เพราะตั้งแต่บวชแล้วก็ออกธุดงค์มาโดยตลอด หากไม่กลับไปโปรดญาติโยมและเคารพอัฐิของโยมบิดามารดาแล้ว ก็จะผิดวิสัยบุตรอันมีกตัญญูกตเวที ท่านจึงยุติการธุดงค์ลงชั่วคราว เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดที่ อ. วาริชภูมิ เพื่อโปรดญาติโยมของท่าน
หลวงปู่สุภา อริยสงฆ์ห้าแผ่นดิน
หลวงปู่สุภา เมื่อเป็นพระป่านั้น ท่านวิเวกรอนแรมอยู่ในป่าดงดิบดำอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตของท่านต้องการจะแสวงวิเวก ไม่ต้องการข้องแวะกับโลกภายนอก วันเวลาล่วงเลยไป ท่านไม่ได้ยึดติดหรือต้องการจะรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นผู้ล้าสมัย หรือ ถอยหลังกลับไปจากความเจริญ แต่ในด้านการไปสู่มรรคผลนิพพานแล้ว หลวงปู่ก้าวหน้าไปอย่างยิ่ง ซึ่งหากท่านผู้อ่านได้ติดตาม ประวัติ ของหลวงปู่สุภาตั้งแต่ต้น จะพบว่าท่านอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างมอบกายถวายวิญญาณกันเลยทีเดียว
ชีปะขาวผู้ให้นิมิต
มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่สุภา ออกจากป่าเพื่อแสวงหาที่จำพรรษาในปุริมพรรษาที่กำลังจะมาถึง พอธุดงค์มาถึง อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา ผ่านมาด้านหลังวัดเกาะสีคิ้ว คำว่าวัดเกาะ คือ มีน้ำกั้นเอาไว้จากโลกภายนอก การคมนาคม หากไม่ใช้เรือ ก็ต้องข้ามโดยสะพานไม้ชั่วคราว ที่ชาวบ้านนำเอาเสาไม้มาปักไว้เป็นโครง พาดด้วยไม้กระดานพออาศัยข้าม การเดินทางเข้าวัดจึงลำบากมาก เมื่อชาวบ้านรอบวัดเกาะสีคิ้วได้พบกับ หลวงปู่สุภา จึงได้นำภัตตาหารมาถวาย และมรรคนายกวัดเกาะสีคิ้วจึงปรารภถึงความยากลำบากในการเข้าสู่วัด หลวงปู่ฟังแล้วเกิดความเมตตา จึงตามให้มรรคนายกนำไปดูสถานที่ ก็เห็นว่าไม่เกินกำลังที่ทำได้ ตลอดจนหากจะทำสะพานถาวรแล้ว จะทำให้ชาวบ้านกุดฉนวนที่อยู่ด้านหลังวัดออกไปได้อาศัยนำสินค้าออกมาขายคนภายนอกได้ ซึ่งนอกจากจะได้เกื้อกูลพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้เกื้อกูลชาวบ้านให้ทำมาหากินได้สะดวก หลวงปู่สุภา จึงรับปาก
ปูนแต่ละถุง ทรายแต่ละคิว หลวงปู่สุภา แลกมาด้วยความยากลำบาก เพราะต้องหาของมงคลมาเป็นของขวัญแก่ญาติโยม ทั้งวัตถุมงคล น้ำมนต์และการสงเคราะห์ผู้เจ็บป่วย หลวงปู่สุภา เป็นขวัญและกำลังใจของคนที่อยู่ใกล้เคียวและจังหวัดใกล้เคียง ทุกวันนี้ หากไปถามคนแถววัดเกาะสิคิ้วแล้ว ทุกคนยังรอให้ท่านกลับมาเยี่ยมเยียนพวกเขาบ้าง หลังจากการสร้างสะพานเสร็จ หลวงปู่สุภา ได้ทำการฉลองสะพาน และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านแถบนั้นได้พบ หลวงปู่สุภา ตราบจนทุกวันนี้
คืนหนึ่ง ขณะที่ท่านจำวัดอยู่ที่ที่ท่านได้ทำการก่อสร้างสะพาน ท่านก็ได้เกิดนิมิตประหลาด ท่านนิมิตไปว่า มีชีปะขาว หน้าตามีบุญ มีแสงสว่างออกจากตัว คล้ายมีแสงไฟกระจายอยู่ด้านหลัง ชีปะขาวมาหยุดยืนอยู่เบื้องหน้าท่าน แล้วกล่าวกับท่านว่า
“ เมื่อสะพานเสร็จแล้ว ท่านพึงจะละทิ้งเอาไว้ระยะหนึ่งก่อน ออกธุดงค์ไปยังโคราชก่อน แล้วตัดทางออกไปอุบลราชธานี อย่าพึงรีบร้อนและลังเล เมื่อพักผ่อนอิริยาบถพอสมควรแล้ว ท่านก็ข้ามไปฝั่งลาวเลย…. ”
เส้นทางที่ชีปะขาวบอก คือข้ามจากอุบลราชธานีทางช่องเม็ก สู่แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เดินตามเส้นทางป่าที่เชื่อมจำปาศักดิ์กับเมืองปากเซ ด้วยเป็นเส้นทางที่วิเวกและสามารถหลีกพ้นการรบกวนของผู้คนที่อาจจะทำให้หลวงปู่ต้องพักช่วยชาวบ้านเป็นระยะ ๆ หมดโอกาสจะไปยังสถานที่ที่ต้องการจะไปได้
หลวงปู่สุภา เดินทางพร้อมเครื่องบริขารธุดงค์ ตรงไปยังปากเซ สอบถามเส้นทางไปยังเมืองเซโปน ซึ่งได้ใช้เส้นทางป่าเหมือนที่มาจากนครจำปาศักดิ์ ผจญความยากลำบากและเภทภัยต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง เพราะตอนนั้น ป่าแถบนั้นชุกชุมไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บและภูตผีปีศาจ จากเซโปน สอบถามเส้นทางไปยังเมืองวัง เส้นทางช่วงนี้วิบากยิ่ง แต่ หลวงปู่สุภา ก็ไม่ย่อท้อ เพราะมีชีปะขาวมานิมิตของเหตุอยู่เสมอตลอดทาง
ชีปะขาวมาปรากฏในนิมิตอยู่เสมอว่า ถ้ำจุงจิง คือสถานที่ที่ท่านจะต้องเดินทางไปให้ถึง ไปให้ตลอด ที่นั่นคือจุดหมายปลายทาง หลวงปู่สุภา จึงมีพลังใจและรุดหน้าเดินทางไปยังเมืองวัง และเดินทางต่อไปยังเมืองอ่างคำ อันป่าแถบนั้นยากที่จะมีผู้ใดบุกเข้าไปได้ ชาวบ้านบอกชัดเจนว่า พระธุดงค์หลายต่อหลายรูป ถามหาทางแล้วไม่เคยกลับออกมาอีกเลย และหลายคนห้าม หลวงปู่สุภา ด้วยคำชาวบ้านง่าย ๆ ว่า
“ อย่าเอาร่างกายไปเป็นเหยื่อสัตว์ร้ายและไข้ป่า ตลอดจนภูตผีปีศาจเลย แม้พรานที่ว่าแก่วิชา ก็ยังต้องตามไปเอาศพกลับมาเผาเพื่อส่งวิญญาณ เมื่อไปพบสภาพศพดูทุเรศเป็นที่สุด ”
จากเมืองวังไปยังเมืองอ่างคำ หลวงปู่สุภา ต้องผจญกับอาถรรพ์ต่าง ๆ นานาประการ หากแต่ได้วิชาที่เล่าเรียนมาแต่ต้น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และธุดงควัตรอันบริสุทธิ์ของท่าน แก้ไขสถานการณ์จนรอดออกมาจากป่า บรรลุถึงเมืองอัตปือแสนปาง ที่นั่น หลวงปู่สุภา มิอาจหาเส้นทางที่เข้าไปยังจุดที่จะถึงถ้ำจุงจิงได้ ที่สุดชีปะขาวต้องมานิมิตบอกท่านว่า มีคนพวกเดียวเท่านั้นที่จะพา หลวงปู่สุภา ไปได้คือ “ พวกข่า ”
พวก “ ข่า ” เป็นพวกพรานป่าที่ชำนาญไพร และชำนาญด้านเส้นทางที่จะไปยังถ้ำจุงจิง หลวงปู่สุภา เดินทางมาจนถึงบ้านหนองไก่โห่ อันเป็นชุมชนของชาวข่าที่น้อยคนนักจะมาถึงได้ พวกข่าพบ หลวงปู่สุภา แล้วรู้สึกแปลกใจ ถามว่ารอดชีวิตจากป่าดงดิบ ดงดิบดำได้อย่างไร หลวงปู่สุภา จึงบอกวัตถุประสงค์ที่จะไปถ้ำจุงจิงแก่ชาวข่า เมื่อได้ยินดังนั้น ชาวข่าก็บอกกับท่านว่า
“ ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำอาถรรพ์ ไม่มีใครอยู่ได้ แม้แต่เฉียดเข้าไป ก็ถูกอาถรรพ์เล่นงานเอาจนตาย หรือเฉียดตาย แต่หากว่าท่านจะไป ก็จะนำทางให้ จะนำทางเพียงขึ้นไปที่ปากถ้ำเท่านั้น หลัวจากนั้น ให้หลวงปู่ให้ค่าจ้างเขาด้วยหน่อทองคำ ”
หลวงปู่สุภา จึงบอกกับพวกข่า
“ เราเป็นพระธุดงค์ ไม่มีทองคำหรือหน่อไม้ทองแต่ประการใดที่จะให้เป็นค่าแรง บอกทางด้วยปากเปล่าก็ได้ จะเดินไปเอง ”
พวกข่าจึงบอกกับ หลวงปู่สุภา ว่า
“ สะพานที่ทอดข้ามจากหนองไก่โห่ ไปยังเส้นทางเขาจุงจิง มีต้นไม้สีทองอุไรขึ้นอยู่มากมาย หากมีวิชาอาคมเด็ดยอดให้ขาดลงมา ทันทีที่ขาดใส่มือ ก็จะกลายสภาพเป็นหน่อทองคำทันที ขอหน่อนั้นให้พวกกระผม จะได้รอจนท่านกลับมา ”
หลวงปู่สุภา จึงรับปาก เขาจุงจิงนั้นเป็นเขตแดนติดต่อกันระหว่าพระราชอาณาจักรลาวกับดินแดนของเวียดนาม หลวงปู่สุภา จึงข้ามสะพานไปอีกฟากหนึ่งจึงพบต้นไม้ที่ชาวข่าบอกให้ฟัง ความจริงนั้น หลวงปู่สุภา เล่าว่า
“ ไม่ใช่ต้นไม้ต้นไร่อะไรหรอก เป็นหน่องอกจากดิน สูงคืบหนึ่งบ้าง หนึ่งศอกบ้าง สองศอกบ้าง มีสีเหลืองเหมือนทอง เวลาต้องแสงแดดก็จะเปล่งประกายงดงามจับตายิ่งนัก พวกข่าต้องการมากทีเดียว ”
เมื่อเดินผ่านเข้าไป ท่านได้ระลึกอยู่ ๒ อย่าง คือ
– ประการแรก ได้รับปากกับชาวข่าไว้แล้วเรื่องให้หน่อไม้ทองเป็นรางวัล
– ประการที่สอง การจะหักหน่อทองคำเป็นอาบัติ ธุดงควัตรจะขาด และจะเกิดอันตราย จะต้องรักษาสองอย่างนี้ไว้ในเวลาเดียวกัน
หลวงปู่เล่าว่า
“ เพ่งมองดูด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา ไม่มีความโลภอยากได้ เมื่อจิตเป็นเอกคตาแล้ว จึงนึกอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่ว่า ขอเทพยดาอารักษ์ที่รักษาสถานที่นี้อยู่ ด้วยอาตมาเดินทางมาด้วยนิมิตจิต ต้องการเพียงเล่าเรียนศึกษาแสวงหาทางนิพพาน แต่ได้รับปากชาวบ้านว่าจะให้หน่อไม้ทอง หากมิมีของให้พวกเขา ธุดงควัตรของอาตมาก็จะบกพร่องและเกิดอันตราย ขอเทพยดาได้เมตตาให้หน่อทองแก่อาตมาด้วยเถิด ”
ทันใดนั้นก็มีเสียงซู่ซ่า ต้นไม้ทองคำก็สั่นไหวไปมา และหลายต้นโน้มยอดเข้ามาทางที่ท่านเดินไปและหักกระเด็นออกมาเรี่ยรายอยู่กับพื้นเป็นจำนวนมาก โดยที่ท่านไม่ต้องออกแรงเด็ดหรือทำการอย่างใดให้ต้องอาบัติ และเมื่อยอดตกหักถึงพื้น ก็กลายเป็นหน่อทองคำจริง ๆ เหมือนที่พวกข่าเล่าให้ฟัง เมื่อเห็นว่าได้หน่อทองคำพอสมควรแล้ว หลวงปู่สุภา จึงบอกกับชาวข่าว่า บัดนี้เราได้หน่อทองแล้ว ขอให้พากันไปเก็บ แต่ต้องนำท่านไปส่งที่ถ้ำจุงจิงก่อน หาไม่แล้ว อาจไม่ได้ทอง เพราะเป็นจิตอธิษฐานของท่านเอง พวกข่าจึงตามท่านไปเก็บหน่อทอง และจึงช่วยกันนำ หลวงปู่สุภา ไปส่งยังถ้ำจุงจิง และลากลับไปหมู่บ้านของเขา หลวงปู่สุภา ปักกลดอยู่ทางขึ้นถ้ำ ชีปะขาวก็มานิมิตอีก คราวนี้มาบอกชัดเจนเลยว่า
“ บนถ้ำจุงจิง มีพระอรหันต์หลายรูป แต่ละรูปเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ดำรงสังขารมานับเป็นพันปี และจะดำรงต่อไปจนกว่าจะพบพระศรีอาริยเมตตรัยมาตรัสรู้ และเมื่อได้รับฟังพระธรรมจากท่านพระศรีอาริยเมตตรัยแล้วจึงจะละสังขารไป ท่านจะได้พบด้วยตัวของท่านเองนั่นแหละ ”
พบพระอรหันต์ด้วยตัวเอง
หลวงปู่สุภา ได้ขึ้นไปจำวัดอยู่บนถ้ำจุงจิงเป็นคืนแรก การขึ้นสู่ถ้ำจุงจิงนั้นยากลำบาก ต้องป่ายปีนไปตามซอกหิน จนได้ขึ้นไปสู่ปากถ้ำ ซึ่งมีแต่หมอกควันปกคลุมอยู่ แสงสว่างจากภายในไม่มี จากภายนอกก็เข้าไปไม่ได้ ต้องอาศัยเทียนนำทาง เมื่อเข้าไปแล้ว เหมือนตนเองอยู่ในเมืองลับแล คือไม่รู้ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน
เข้าวันใหม่ หลวงปู่สุภา จึงออกมานอกถ้ำ ที่หน้าถ้ำ หมอกได้สลายไปหมดแล้ว เห็นภูมิทัศน์ได้ถนัดตา มองขึ้นไปด้านบน จะเห็นมียอดเขาและถ้ำอีกมากมาย แต่ไร้เส้นทางขึ้น เป็นหน้าผาล้วน ๆ ไม่มีก้อนหินและทางขึ้นไปได้ จึงได้แต่คิดว่า เราจะได้พบพระอาจารย์หรือพระอรหันต์ได้อย่างไร พอคิดแวบขึ้นมา มองขึ้นไปข้างบนก็เห็นสีเหลืองคล้ายจีวร เลื่อนลงมาจากปากถ้ำด้านบน รวดเร็วมากจนมองแทบไม่ทัน มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อสีเหลือง ๆ นั้น มายืนอยู่ตรงหน้า เป็นพระภิกษุที่มีผิดพรรณวรรณะผิดกับคนธรรมดาทั่วไป ครองผ้าแปลกไปกว่าที่ หลวงปู่สุภา ครองอยู่ แต่มีลักษณะคล้ายพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ให้สังเกตได้หลายประการ แล้วพระสงฆ์รูปนั้นก็กล่าวขึ้นว่า
“ ไม่ต้องแปลกใจหรอก การลงมาเมื่อกี้นี้เป็นเพียงการอธิษฐานจิตเท่านั้นแหละ เอาเป็นว่า มาได้อย่างไร และทำไมจึงต้องมาที่นี่ บอกมาให้ละเอียด ”
หลวงปู่สุภา เล่าให้ศิษย์ฟังว่า พระอรหันต์จริง ๆ จะไม่กล่าวพาดพิงถึงการสำแดงปาฏิหาริย์หรือปรากฏการณ์มหัศจรรย์ แต่จะพูดเลี่ยงไปมา ด้วยพระอรหันต์นั้น หากแม้แสดงตัวหรืออะไรก็ตามที่ให้บุคคลที่สองรู้ว่าตนเป็นอรหันต์ ต้องปาราชิก ฐานอวดอุตริมนุสธรรม แม้จะมีภูมิธรรมก็ตามที หลวงปู่สุภา จึงได้ตอบไปว่า
“ กระผมมาตามนิมิตที่ได้จากชีปะขาว จึงเดินทางมาจนถึงที่นี่ด้วยต้องการจะเล่าเรียนทางด้านวิปัสสนากรรมฐานที่สูงขึ้นกว่าที่ได้เรียนมา หากท่านมีเมตตาแล้ว ก็ช่วยสอนให้กับกระผมด้วยเถิด ”
พระรูปนั้นจึงกล่าวว่า ไม่ยากหรอก แต่ต้องเริ่มกันที่ การกำจัดสิ่งปฏิกูลออกจากตัวท่านก่อน อย่าลืมว่าท่านฉันภัตตาหารที่มีเนื้อสัตว์ปะปนอยู่ สิ่งเหล่านั้นปะปนอยู่ในตัวท่านมากมาย ต้องนอนลงบนใบตอง ทำจิตให้มั่นคง และต่อไปเราจะสวดเพื่อขัยไล่สิ่งที่เป็นคาวออกจากตัวท่านให้หมด เมื่อน้ำคาวออกหมดแล้วจึงจะสวมจีวรได้อีกครั้ง ระหว่างที่สวด จะต้องสวมแต่สบงเท่านั้น จีวรและอังสะต้องแยกออกไป ชำระล้างตัวแล้วจึงไปเรียนชีปะขาวหรือฤๅษีที่ไปนิมิตบอกท่านนั่นแหละ เรียนกับเขาด้านสมถะและด้านญาณโลกียะ ซึ่งสามารถแสดงฤทธิ์อภิญญา แต่นั่นไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่จะสามารถแสดงฤทธิ์ขึ้นไปข้างบนที่เห็นอยู่ได้ เพื่อพบพวกเรา พวกเราอยู่กันบนนั้น มีอายุวัฒนะด้วยอิทธิบาท ๔ ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทางสำแดงว่า จะสามารถดำรงขันธ์อยู่ได้นานตามที่ต้องการ เราจะอยู่จนพระศรีอาริยเมตตรัยลงมาตรัสรู้ และได้ฟังธรรมะจากท่านแล้วจึงจะละสังขารไปสู่นิพพานอันเป็นบรมสุข แต่ เอ๊ะ…
“ คุณยังมีภาระอยู่นี่ ยังทำอะไรไม่ได้หรอก ต้องกลับไปทำให้สำเร็จก่อนจะมาศึกษาเล่าเรียนได้ มันเป็นห่วงที่คอยขัดขวางการเล่าเรียนของคุณ กลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน ”
หลวงปู่สุภา จึงบอกกับพระภิกษุรูปนั้นว่า สะพานผมสร้างสำเร็จแล้ว ศาลาการเปรียญก็สำเร็จแล้ว ผมยังมีอะไรเป็นห่วงอีก พระภิกษุรูปนั้นจึงบอกว่า
“ สำเร็จแล้ว แต่คุณยังค้างชาวบ้านเขา ก็คุณบอกว่า จะทำการฉลองไง แล้วคุณไม่กลับไปฉลอง ก็เท่ากับคุณไม่ทำตามปากพูด เป็นมุสาวาท คุณกลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ก็แล้วกัน ”
พอสิ้นคำพูดนั้น ร่างของภิกษุรูปนั้นก็เลื่อนขึ้นสู่เบื้องบนเหมือนตอนที่ลงมาไม่มีผิด ท่านจึงต้องเดินทางย้อนกลับมาทางเดิม มาทำพิธีฉลองสะพานและสิ่งก่อสร้างในวัดเกาะสีคิ้ว ครั้นเตรียมตัวกลับไปใหม่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะมีพระมหาสมาน อยู่คณะ ๕ วัดหงส์รัตนาราม นิมนต์ให้ไปช่วยเป็นประธานปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิและเสนาสนะในคณะ ๕ กว่าจะเสร็จกินเวลานาน และชีปะขาวก็มิได้มานิมิตอีกเลย เป็นอันว่าท่านไม่ได้กลับไปถ้ำจุงจิงอีกเลย ท่านเล่ามาถึงตอนนี้ก็บอกกับศิษย์ว่า
“ จำไว้เลยว่า ทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่วาสนาบารมีแต่ละคน สำหรับท่าน ไม่มีวาสนาบารมีจะได้เล่าเรียนกับพระอาจารย์ที่ถ้ำจุงจิงเป็นแน่ จึงได้กลับไป ”
กลับบ้านเกิด โปรดญาติโยม
จากเวลาที่ หลวงปู่สุภา จากบ้านเกิดไปเมื่อตอนอายุ ๙ ขวบ จนถึงเวลาที่ท่านดำริที่จะกลับบ้านเกิดนั้นเป็นเวลา ๖๒ ปีเต็ม (พ.ศ. ๒๕๑๑) หลวงปู่สุภา จึงแบกกลดธุดงค์กลับบ้านเกิดที่บ้านคำบ่อ อ. วาริชภูมิ ญาติพี่น้องรุ่นเก่า จำท่านได้อย่างแม่นยำ แต่ลูกหลานที่เกิดมาทีหลัง จำท่านไม่ได้ ต้องลำดับญาติโยมจนกระทั่งจำกันได้ ทุกคนยินดีปรีดาที่ หลวงปู่สุภา กลับมาบ้านเกิดในฐานะนักบวชผู้มีภูมิธรรมอันควรแก่การบูชา และทุกคนมีความเห็นตรงกันที่จะให้ท่านแขวนกลดและจำพรรษาที่บ้านเกิด
หลวงปู่สุภา จึงได้หาหนทางที่จะทำให้ลูกหลานไม่รั้งท่านไว้นานนัก โดยท่านก็รำลึกได้ว่า ห่างบ้านเกิดของท่านไป ๙ ก.ม. มีถ้ำเก่าแก่ เรียกว่า “ ถ้ำพระทอง ” สถานที่นี้เหมาะที่จะสร้างเป็นวัด จึงได้บอกกับลูกหลานว่า
“ หากช่วยกันทำบันไดไปจนถึงถ้ำพระทอง และนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แล้ว หลวงปู่จะมาจำพรรษาที่นั่น ”
ลูกหลานต้องจำนน เพราะการสร้างถาวรวัตถุไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หลวงปู่สุภา จึงทำการบวชพี่ชายของท่านเป็นพระภิกษุ อบรมวิปัสสนากรรมฐานให้ พร้อมกับการอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ได้แม่ชีและชีปะขาวอีกหลายสิบคนเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสืบต่อการเล่าเรียนพระกรรมฐานต่อไป
หลวงปู่สุภา จึงได้ล่ำลาชาวบ้านและญาติพี่น้อง แบกกลดออกจากบ้านเกิดไปภูเก็ตและทางภาคใต้ จนกลับมาทางนครปฐม พบกับพลเอกประกอบ (ไม่ทราบนามสกุล) รับนิมนต์ให้พัฒนาวัดพระประโทน และจำพรรษาอยู่ที่นั่นนานพอสมควร จนได้รับการติดต่อจากบ้านเกิดว่า บัดนี้ได้สร้างบันไดไปถึงถ้ำพระทอง แล้วนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แล้ว ขอให้ท่านกลับไปจำพรรษาตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ จึงให้พระครูคัมภีร์ ไปดูแลถ้ำพระทองก่อน เพราะท่านยังมีภารกิจที่วัดพระประโทน
พระครูคัมภีร์ไปอยู่ถ้ำพระทองได้ไม่นาน ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่สุภา จึงต้องลงไปถ้ำพระทองถึง ๓ พรรษาเต็ม และบอกญาติโยมว่า ท่านจะหาผู้ปกครองดูแลถ้ำพระทองมาใหม่ ท่านมีภารกิจที่จะต้องธุดงค์ออกไปสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในการธุดงค์
จากนั้น หลวงปู่สุภา ก็ได้นิมนต์พระอาจารย์ทองจันทร์ ศิษย์ในสาย หลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นสหายทางธรรมกับ หลวงปู่สุภา มาปกครองดูแลถ้ำพระทองสืบมา ถ้ำพระทอง ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดพระพุทธไสยาสน์ อยู่ ต.บ้านคอเขียว อ. วาริชภูมิ จ. สกลนคร หลวงปู่สุภา ได้ทำการอุปถัมภ์ในด้านต่าง ๆ ตามกำลังของท่านจวบจนทุกวันนี้
ทักษิณถิ่นแดนธรรม
หลวงปู่สุภา หันมาธุดงค์ทางใต้ หลังจากปลดภาระจากบ้านเกิดแล้ว และสถานที่ที่ หลวงปู่สุภา ไปก็คือภาคใต้ เลยเข้าไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และแถบหมู่บ้านในแหลมมลายู ท่านนิยาชมชอบสถานที่ใน จ.ภูเก็ต ก็เมื่อท่านมาปักกลดอยู่ที่เขารัง และเมื่อมีญาติโยมมาอุปัฏฐากท่าน ท่านก็ได้เกริ่นที่จะสร้างวัดที่เขารัง ญาติโยมก็มีจิตศรัทธา จึงได้ติดต่อเจ้าของที่เพื่อจะขอซื้อ แต่เจ้าของที่ดินปฏิเสธ หลวงปู่สุภา จึงตกลงใจถอนกลดธุดงค์เพื่อเดินทางต่อไป ในราตรีก่อนที่จะถอนกลดนั้น หลวงปู่สุภา ก็ได้นิมิตประหลาด มีพระภิกษุชราภาพมากรูปหนึ่งมาปรากฏร่างที่ข้างกลดธุดงค์ของท่าน เมื่อท่านออกมาพบ พระภิกษุชรารูปนั้นก็ได้บอก หลวงปู่สุภา ว่า
“ อย่าได้เสียใจเลย ยังมีสถานที่ที่เขาต้องการให้ท่านไปสร้างวัด ชาวบ้านเขารอกันเป็นเวลานาน แต่ไม่มีใครไปสร้างให้ จงข้ามทะเลไปยังเกาะสิเหร่ ที่นั่นคือที่ที่ท่านจะสมปรารถนา ”
จากภูเก็ต หลวงปู่สุภา ลงเรือที่ทางญาติโยมจัดให้ เพื่อเดินทางไปเกาะสิเหร่ แล้ว หลวงปู่สุภา ก็ปักกลด แสวงหาวิเวกบนเกาะสิเหร่ ละมาพบที่ดินที่ถูกใจแปลงหนึ่ง จึงสอบถามหาเจ้าของที่ ปรากฏว่าเจ้าของที่คือแป๊ะหลี มีความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของหลวงปู่สุภา จึงปวารณาตัวอุทิศที่ให้สร้างเป็นวัดขึ้นเป็นวัดแรกของเกาะ เรียกว่า “ วัดเกาะสิเหร่ ”
เนื่องจากภาระในการสร้างวัดเกาะสิเหร่ เป็นภาระที่หนักมาก และต้องหาทุนทรัพย์จากภายนอกมาเกื้อหนุน หลวงปู่สุภา จึงต้องเดินทางไปมาระหว่าง กทม. กับเกาะสิเหร่ บ่อยมาก และได้พบกับฆราวาส จอมอาคม จากสำนักเขาอ้อ คืออาจารย์ชุม ไชยคีรี และอาจารย์อุทัย ดุจศรีวัชร์ เพื่อร่วมกันสร้างวัตถุมงคลครั้งแรกเรียกว่า “ พระเสด็จกลับ ”
หลังจากที่สร้างวัดเกาะสิเหร่แล้ว หลวงปู่สุภา ได้นิมิตถึงพระพุทธไสยาสน์ จึงนำมาสร้างเป็นพระพุทธไสยาสน์ประจำวัดเกาะสิเหร่ รวมเวลาการสร้างวัดเกาะสิเหร่และพระพุทธไสยาสน์ เป็นเวลา ๖ ปี เต็ม โดยถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งการนี้ได้โปรดเกล้าพระราชทานแววพระเนตรมาประดิษฐานไว้ที่พระเนตรของพระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ได้ก่ออภินิหารมากมาย และที่เล่าลือในหมู่ชาวเกาะสิเหร่ก็คือ เรื่องราวของการที่ขโมยได้ลอบเข้ามาจะสกัดเอาแววพระเนตรของพระพุทธไสยาสน์ในตอนกลางคืน ได้ของมาแล้วก็จะนำออกไปจากวัด ปรากฏว่า เดินวนอยู่ในวัด หาทางออกไม่ถูก จนชาวบ้านมาพบและพระเห็นเข้า จึงเรียกตำรวจมาจับพร้อมของกลาง โดยรับสารภาพทำไปเพื่อจะนำแววพระเนตรไปขาย แต่ก็หาทางออกไม่ได้ เดินวนไปมาจนถูกจับ
เมื่อ หลวงปู่สุภา ตั้งใจสร้างวัดบนเกาะสิเหร่นั้น ชาวบ้านก็วิตกกังวลว่า ท่านจะหาทุนมาจากไหน เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้การขนส่งวัสดุก่อสร้างนั้นเสียเวลานาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายก็สูงอีกด้วย แต่ก็ปรากฏว่า หลวงปู่สุภา ได้แรงศรัทธาจากทั้งคนบนเกาะสิเหร่และคนที่ภูเก็ต ตลอดจนญาติโยมจากนครปฐม และทุกแห่งที่ท่านเคยไปสร้างความเจริญมาร่วมช่วยกันอย่างเต็มที่และเต็มแรงกายแรงใจ หลวงปู่สุภา ลำดับวัดที่เคยไปสร้างความเจริญไว้ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๓๓ วัด แต่ละวัดล้วนมีความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่าน
เมื่อวัดได้ทำการสร้างสำเร็จแล้ว หลวงปู่สุภา ก็แบกกลดขึ้นไปทางเหนืออีกครั้ง เพื่อแสวงหาความวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ค่ายทหารที่เขาค้อ อันเป็นค่ายที่ต้องประจันหน้ากับพวก ผกค. ที่มียุทธวิธีการรบแบบกองโจร ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากกับกำลังทหาร หลวงปู่สุภา ได้เข้าไปพักในค่ายทหาร คอยเป็นขวัญกำลังใจ ตลอดจนสร้างพระเครื่อง – เครื่องรางของขลังแจกทหารในค่ายที่ออกไปลาดตระเวน ทำลายที่ตั้งของค่ายพักฝ่าย ผกค. ปรากกว่าทหารที่มีเครื่องรางของท่านล้วนแคล้วคลาดทุกคน
ออกจากเขาค้อ ท่านกลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้ง คราวนี้อาพาธหนักด้วยไข้ป่า เพราะท่านไปอยู่บนเขาค้อ จนได้รับเชื้อมาลาเรียอย่างรุนแรง แต่ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา และบารมีธรรม ทำให้ หลวงปู่สุภา เพียงอาพาธหนัก ต้องรักษาอยู่นาน ซึ่งลูกหลานต่างก็ยินดีที่หลวงปู่มาพักอยู่ด้วยอย่างเนิ่นนาน
หลวงปู่สุภา ธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ จนลืมไปว่าท่านเคยมาพักอยู่ที่ภูเก็ต เมื่อท่านระลึกได้จึงเดินทางกลับมาที่เขารังที่ท่านเคยปักกลดและขอซื้อที่ดินทำวัด แต่เจ้าของปฏิเสธ มาคราวนี้กาลเวลาเปลี่ยนไป หลวงปู่สุภา ในวัย ๘๔ ปี รู้สึกว่าเขารังที่เคยเป็นดินแดนสงบ ถูกความเจริญรุกไล่จนกลายเป็นสวนสาธารณะแล้ว ทางเหนือได้กลายเป็นโรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลประจำเกาะภูเก็ต ด้านหลังของโรงพยาบาล ที่ติดกับเขารังทางด้านเหนือได้ทำเป็นสถานที่เก็บศพ เล่าลือว่าผีดุ หลวงปู่สุภา จึงไปปักกลดที่นั่น มีศิษย์ที่เคยรู้จักท่านพบเข้าจึงเล่าลือกันปากต่อปาก มีศรัทธาสาธุชนเพิ่มมากขึ้น และทุกคนเห็นพ้องว่าท่านอายุ ๘๔ แล้ว สังขารมีแต่ชราและอาพาธบ่อย ๆ เกรงว่าหากแบกกลดธุดงค์ ตะลอนไปเรื่อย ๆ ก็คงมรณภาพกลางทางเข้าสักวัน จึงนิมนต์ให้หลวงปู่อยู่กับที่ โดยได้ขอซื้อที่ดินจากเจ้าของที่จะขายให้ ๑ ไร่เศษ นอกจากนั้น เจ้าของไม่ยินดีให้ความร่วมมือ จึงทำการสร้างวัดไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ระบุไว้ชัดว่า จะสร้างวัดต้องมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๖ ไร่ จึงต้องสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น และตั้งชื่อตามนามของท่านเจ้าของที่ดินดั้งเดิม คือ “ สำนักสงฆ์เทพขจรจิตร ” โดยได้มาจากส่วนหนึ่งของบรรดาศักดิ์ท่านเจ้าของคือ “ หมื่นขจรจิตรพงษ์ประดิษฐ์ ” และ หลวงปู่สุภา เล็งเห็นว่า หากต้องการสร้างความสงบให้แก่เขารังและแก่จังหวัดภูเก็ต ต้องสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรไว้บนยอดเขารัง โดยออกแบบให้มีส่วนฐานขององค์พระขึ้นไปจากหลังคาสำนักสงฆ์ โดยช่างรับเหมาระบุราคาไว้ ๒๐ ล้านบาท แต่ด้วยท่านอาศัยบารมีธรรมและการสงเคราะห์จากลูกศิษย์ จนในที่สุด จึงสร้างพระพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดในเกาะภูเก็ต มองเห็นได้แต่ไกลได้สำเร็จ
เนื่องจากท่านได้อาพาธจนเข้าโรงพยาบาลวชิระอยู่บ่อยครั้ง และท่านเห็นว่า ไม่มีตึกสงฆ์ ทำให้พระต้องไปอยู่รวมกับคนป่วยอื่น จึงดำริที่จะสร้างตึกสงฆ์ จึงเข้าพบ ผอ. โรงพยาบาลวชิระ ออกปากขอที่ดินพร้อมทั้งแบบก่อสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการหาทุนมาสร้าง นับเป็นผลงานในขณะที่ท่านอายุเข้าถึง หนึ่งศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปีของท่าน แต่ท่านไม่เคยย่อท้อในชีวิตของท่าน มีแต่คำว่า ให้ และ สร้างทุกอย่าง สำเร็จด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่าน
ถึงแม้ปัจจุบันท่านจะไม่ได้แบกกลดออกท่องธุดงค์ เพื่อแสวงหาความวิเวกตามเขาลำเนาไพรอีกแล้ว ด้วยความจำกัดแห่งสังขาร แต่ท่านก็ทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะทางจิตใจ หรือแม้แต่ผู้ถูกคุณไสย ทั้งยังทำหน้าที่เป็นวิปัสสนาจารย์ ท่านจะคอยแนะนำข้อปฏิบัติ และให้โอวาททุกวันหลังจากพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาไหว้พระสวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว เท่าที่ได้สัมผัสมา หลวงปู่สุภา มีศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปมาหาสู่ท่านมิได้ขาด โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ด้วยแล้ว มากันเป็นคันรถ เพราะท่านเคยไปธุดงค์ช่วยเขาในอดีต ส่วนทั้งศิษย์เก่าและใหม่ ต่างพากันไปนมัสการท่าน ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า
“ ได้รับเมตตา ได้เห็นรอยยิ้มท่าน ได้รับพร และได้รับวัตถุมงคล ทำให้มีขวัญและกำลังใจเพิ่มพูนขึ้น และทำมาค้าขายคล่อง มีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ พ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยบารมีของหลวงปู่สุภาเป็นที่พึ่ง “